วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

บทคัดย่องานวิจัย

บทคัดย่องานวิจัย
ชื่อวิทยานิพนธ์ : : การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย ระหว่างการสอนโดยให้นักเรียนค้นคว้าด้วยตนเองภายใต้การควบคุมกับการสอนแบบบรรยาย ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
(ม.4) โรงเรียนสารคามพิทยาคม 2525
ชื่อนักศึกษา : จิตรา ขนอม
สถาบัน : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ปริญญา : มหาบัณฑิต
หลักสูตร : การศึกษา
สาขา : มัธยมศึกษา-การสอนสังคมศึกษา
ปี : 2525
ISBN : -
สืบค้นข้อมูลต้นสังกัด : http://www.library.msu.ac.th/
จำนวนเปิดอ่าน : 1037 ครั้ง
บทคัดย่อ: ความมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า
เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ม.4) สอนโดยให้นักเรียนค้นคว้าด้วยตนเองภายใต้การควบคุมกับการสอนแบบบรรยาย สมมติฐานในการศึกษาค้นคว้า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 สอนโดยการค้นคว้าด้วยตนเองภายใต้การควบคุมจะมีผลสัมฤทธิ์วิชาภาษาไทยสูงกว่านักเรียนสอนแบบบรรยาย วิธีดำเนินการทดลอง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลอง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ม.4) โปรแกรมวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์-ศิลปกรรม ซึ่งเรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2525 โรงเรียนสารคามพิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคามจำนวน 90 คน วิธีสุ่มตัวอย่างใช้การสุ่มอย่างง่าย ด้วยการจับฉลากจากนักเรียนที่ได้รับเลือกเข้าเรียนในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ม.4) โปรแกรมคณิตศาสตร์-ศิลปกรรม จำนวน 135 คนได้นักเรียน 90 คน และจับฉลากแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 45 คน การเลือกว่ากลุ่มใดเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มใดเป็นกลุ่มควบคุม ใช้วิธีจับฉลาก ได้กลุ่มทดลองซึ่งสอนโดยการให้นักเรียนค้นคว้าด้วยตนเองภายใต้การควบคุม และกลุ่มควบคุมซึ่งสอนแบบบรรยาย เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองครั้งนี้มีดังนี้ 1. เนื้อหาที่ใช้ในการทดลอง เนื้อหาที่ใช้ในการทดลองครั้งนี้เป็นเนื้อหาวิชาภาษาไทย รายวิชา ท.401 เรื่องการอ่านเพื่อพัฒนาตนเอง ซึ่งได้จากการสุ่มด้วยวิธีจับฉลากจากเรื่องในหนังสือเรียนภาษาไทยชุดทักษะพัฒนา เล่ม 1 ของกระทรวงศึกษาธิการ 2. การสร้างแผนการสอน การทดลองครั้งนี้ใช้การสอน 2 แบบ คือ การสอนโดยนักเรียนค้นคว้าด้วยตนเอง ภายใต้การควบคุมและการสอนแบบบรรยาย การสร้างแผนการสอนทั้ง 2 แบบ ทำตามลำดับดังนี้ ศึกษาวิเคราะห์หลักสูตรชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายพุทธศักราช2525 โครงการสอนเนื้อหาวิชาภาษาไทย โดยเฉพาะรายวิชา ท.401 ศึกษาลำดับขั้นการสอนในคู่มือการสอนภาษาไทย ของหน่วยศึกษานิเทศก์กรมสามัญการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจัดทำโครงการสอนยึดจุดประสงค์รายวิชา ท.401 เป็นหลัก แยกเนื้อหาออกเป็นเนื้อย่อย 12เนื้อหา เพื่อนำไปสร้างแผนการสอน 12 แผนการสอน แผนการสอนละ 1 คาบเรียน จัดทำกิจกรรมการเรียนการสอนตามลำดับขั้นการสอน ในการสอนแบบบรรยายได้จัดทำอุปกรณ์การสอนตามที่ได้ระบุไว้ในแผนการสอน ส่วนในการสอนโดยให้นักเรียนค้นคว้าด้วยตนเองภายใต้การควบคุมนั้น เมื่อสร้างแผนการสอนเรียบร้อยแล้ว ได้จัดทำบัตรงานสำหรับให้นักเรียนใช้ประกอบการค้นคว้า บัตรงานนี้สอดคล้องและเป็นไปตามลำดับขั้นการสอนที่ระบุไว้ในแผนการสอน ติดต่อห้องสมุด นำแผนการสอนทั้ง 2 แบบและบัตรงานไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4(ม.4) โปรแกรมวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์-เกษตรกรรม โรงเรียนสารคามพิทยาคมเพื่อหาข้อบกพร่อง นำมาปรับปรุงอีกครั้งก่อนนำไปใช้กับกลุ่มทดลองและควบคุม 3. การสร้างแบบทดสอบ แบบทดสอบที่สร้างเป็นแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์วิชาภาษาไทยรายวิชา ท.401 เรื่องการอ่านเพื่อพัฒนาตนเอง แบบทดสอบเป็นแบบปรนัย ชนิดเลือกตอบมี 5 ตัวเลือกการสร้างแบบทดสอบได้กระทำตามลำดับดังนี้ ทำตารางวิเคราะห์เนื้อหาเรื่องการอ่านเพื่อพัฒนาตนเอง ให้ครูผู้สอนรายวิชา ท.401 จำนวน 7 ท่าน กำหนดความสำคัญสร้างข้อสอบจำนวน 120 ข้อ ตามสัดส่วนจากตารางวิเคราะห์หลักสูตร นำแบบทดสอบไปให้ผู้เชี่ยวชาญทางการวัดผลและทางภาษาไทยตรวจเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องเรียบร้อยแล้ว นำไปทดสอบกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ม.4) จำนวน 129 คน ซึ่งได้เรียนเนื้อหานี้มาแล้วในโรงเรียนผดุงนารี อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม นำคะแนนที่ได้มาวิเคราะห์เลือกเอาข้อสอบซึ่งมีค่าความยากง่าย .02-.30 และค่าอำนาจจำแนก .20 ขึ้นไป เลือกได้ข้อสอบ 60 ข้อ ตามสัดส่วนจากตารางวิเคราะห์หลักสูตรข้อสอบฉบับนี้มีค่าความเชื่อมั่น 0.833 การดำเนินการทดลอง ในการทดลองครั้งนี้ได้ทำการทดลองกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ม.4) โปรแกรมวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์-ศิลปกรรม ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา2525 โรงเรียนสารคามพิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม โดยการดำเนินการสอนตามแผนการสอนทั้งสองแบบพร้อมๆ กัน ใช้การสอนโดยให้นักเรียนค้นคว้าด้วยตนเองภายใต้การควบคุมกับกลุ่มทดลองและใช้การสอนแบบบรรยายกับกลุ่มควบคุมใช้เวลาสอน 12 คาบเท่ากันและทำการทดสอบกับนักเรียนทั้งสองกลุ่ม ภายหลังจากที่เรียนจบบทเรียนที่กำหนดให้ โดยใช้แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์วิชาภาษาไทย 4. การจัดกระทำกับข้อมูล นำคะแนนที่ได้จากการทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์วิชาภาษาไทยหลังการเรียนของนักเรียนทั้งสองกลุ่มมาเปรียบเทียบเมื่อทดสอบความแตกต่างโดยใช้สถิติt-test (Indenpedent Sample) สรุปผลการทดลอง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ม.4) กลุ่มที่สอนโดยการค้นคว้าด้วยตนเองภายใต้การควบคุมและกลุ่มที่สอนแบบบรรยาย มีผลสัมฤทธิ์วิชาภาษาไทยแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ข้อเสนอแนะ 1. ผู้บริหารโรงเรียนควรจะสนับสนุนให้มีการสอนแบบให้นักเรียนค้นคว้าด้วยตนเองโดยส่งเสริมแหล่งค้นคว้า เช่น ห้องสมุดโรงเรียนให้มีหนังสือ วัสดุ อุปกรณ์ มีเอื้ออำนวยต่อการค้นคว้าของครูและนักเรียน และควรจัดให้มีการอบรมและร่วมกันทำอุปกรณ์ประกอบการค้นคว้าของนักเรียน เช่น ชุดการสอน บัตรงาน บทเรียนโปรแกรม ฯลฯ ไว้ให้พร้อมเพื่อความสะดวกหยิบใช้ได้ทัน 2. สำหรับครูผู้สอนน่าจะได้ทำการสอนให้นักเรียนค้นคว้าด้วยตนเองไปใช้ในกรณีต่อไปนี้ 2.1 ใช้สอนในเวลาเรียนปกติ เพื่อนักเรียนจะได้มีทักษะค้นคว้าด้วยตนเองซึ่งเป็นทักษะที่นักเรียนจำเป็นต้องใช้ไปตลอดชีวิต นอกจากนี้ครูและนักเรียนจะได้ใช้แหล่งความรู้ เช่น ห้องสมุดและอุปกรณ์การเรียนให้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง 2.2 ใช้สอนเพื่อแก้ปัญหาที่นักเรียนขาดเรียนหรือเรียนไม่ทันเพื่อนในห้องเรียนครูก็จัดอุปกรณ์การสอนหรือบัตรงานให้นักเรียนได้ไปค้นคว้านอกห้องเรียนหรือเวลาเรียนก็จะทำให้นักเรียนสามารถเรียนทันเพื่อนๆ ในห้องเรียน 2.3 เมื่อครูมีความจำเป็นไม่สามารถจะเข้าสอนได้ การจัดครูอื่นเข้าแทนในเวลากระทันหันอาจทำให้การเรียนการสอนไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะครูที่สอนแทนอาจเตรียมการสอนไม่ทัน การให้นักเรียนค้นคว้าด้วยตนเองตามแผนการสอนที่ครูประจำวิชาได้เตรียมไว้แล้ว ครูที่สอนแทนเพียงแต่คอยให้คำแนะนำเมื่อนักเรียนมีปัญหาจะทำให้การเรียนการสอนได้ผลมากกว่า 2.4 ในกรณีที่นักเรียนสนใจเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นพิเศษนอกเหนือการสอนในชั้นเรียนของครู ถ้าครูได้จัดให้นักเรียนได้ค้นคว้าด้วยตนเอง โดยเพียงแต่ให้คำแนะนำแนะแนวทางให้นักเรียนไปค้นคว้าด้วยตนเองก็จะช่วยให้นักเรียนบรรลุความประสงค์นั้น

จิตรา ขนอบ. (2525).การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย ระหว่างการสอนโดยให้นักเรียนค้นคว้าด้วยตนเองภายใต้การควบคุมกับการสอนแบบบรรยาย ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (ม.4) โรงเรียนสารคามพิทยาคม 2525 :มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
สิ่งที่ได้รับจากการค้นคว้าบทวิจัยนี้คือ
1.ทำให้ทราบแหล่งข้อมูลในการค้นหางานวิจัย บทคัดย่องานวิจัย จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย
2.ได้เรียนรู้การเขียนบทคัดย่อของวิทยานิพนธ์ที่ถูกต้อง
3. ได้เรียนร้ประเภทของเครื่องมือในการทำวิทยานิพนธ์
4. สามารถนำความรู้ที่ได้จากงานวิจัยไปพัฒนาการศึกษาในอนาคต
5. ได้ศึกษาวิธีการเขียนบรรณานุกรมท้ายเล่ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น